วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

โครงการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1






เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุม 1 อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยงานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับ ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อีฮงมดแดงมอเตอร์ ห้างทองอุเทน มหาสารคาม และสมาคมศิลปินอีสาน กำหนดจัดการประกวดและการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 ประจำปี 2555 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและกิจการพิเศษ , อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะกรรมการจัดงาน ได้ร่วมแถลงข่าวถึงรายละเอียดของโครงการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้น รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ให้สื่อมวลชนได้รับทราบและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงที่มาของการจัดโครงการว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกลุ่มประเทศอาเซียน ต้องการส่งเสริมให้คณาจารย์ บุคลากร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน รวมทั้งประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และกลุ่มประเทศอาเซียน ได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของการส่งเสริมภาคลักษณ์ทางขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับโครงการประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 1 ที่จะจัดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือและสานความสัมพันธไมตรีทางศิลปวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนโดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวนำ เป็นการสนับสนุนการเรียนการสอนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านศิลปะ ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม ให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน นิสิต บุคลากร และคณาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ ตลอดจนเสริมสร้างธุรกิจเชิงศิลปวัฒนธรรมของไทย เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่ดี และเป็นที่พึ่งของชุมชนสังคมทางด้านการศึกษา ในเชิงศิลปวัฒนธรรมของไทย ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ด้าน อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ได้กล่าวถึง ประเภทศิลปกรรมที่จะส่งผลงานเข้าประกวด ต้องเป็นผลงานประเภทจิตกรรม ได้แก่ ภาพเขียนสีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน รวมทั้งผลงานจิตกรรมผสม ซึ่งเป็นผลงานศิลปกรรมที่ใช้กรรมวิธีทางวัสดุต่างๆ ในรูปแบบ 2 มิติ

ขนาดของผลงานศิลปกรรม แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

- ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ผลงานศิลปกรรมทุกประเภทต้องมีขนาด กว้าง ยาว แต่ละด้านไม่เกิน 150x 150 เซนติเมตร(ไม่รวมกรอบ)
- ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ผลงานศิลปกรรมทุกประเภทต้องมีขนาด กว้าง ยาว แต่ละด้านไม่เกิน 56 X 76 เซนติเมตร (ไม่รวมกรอบ)
- ระดับประถมศึกษา ผลงานศิลปกรรมทุกประเภทต้องมีขนาด กว้าง ยาว แต่ละด้านไม่เกิน 56 X38 เซนติเมตร (ไม่รวมกรอบ)

รางวัลการประกวดแบ่งออกเป็นแต่ละประเภท ได้กำหนดรางวัล ดังนี้

1. ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลละ 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร / รางวัลดีเด่น 3 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร และรางวัลพิเศษ 5 รางวัล รางวัลละ 25,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
2. ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร / รางวัลดีเด่น 2 รางวัล รางวัลละ 7,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร และ รางวัลพิเศษ 5 รางวัล รางวัลละ 4,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
3. ระดับประถมศึกษา รางวัลยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลละ 9,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร / รางวัลดีเด่น 2 รางวัล รางวัลละ 6,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร และ รางวัลพิเศษ 5 รางวัล รางวัลละ 3,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร

ทั้งนี้ ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15 พฤศจิกายน 2555 ณ ชั้น 1 สำนักงานสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย นิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 8 ธันวาคม 2555 - 30 มกราคม 2556 ณ สำนักงานสถาบันวิจัยศิลปะ
และวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ หอศิลป์อีฮงยามาฮ่า

ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ งานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทรศัพท์ 043-754181 และห้างหุ้นส่วนจำกัด อีฮงมดแดงมอเตอร์ มหาสารคาม โทรศัพท์ 086-4556789

ที่มา : http://www.web.msu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น